http://bailang.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 ต้นเหลียง

สถิติ

เปิดเว็บ27/06/2011
อัพเดท12/03/2021
ผู้เข้าชม1,067,572
เปิดเพจ1,457,448

ข้อมูลต้นเหลียง

กิจกรรมการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดคลอโรฟิลล์ด้วยเอทานอลจากผักเหมียง

พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้

ข้อมูลของหนังสือผักเหลียง

ผักเหลียงชุมพร

ราชินีแห่งผักพื้นบ้านภาคใต้

ปลูกต้นไม้ ๘๔ ชนิด เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปลูกผักเหมียงในสวนยาง รายได้ง่าย ๆ

โครงการส่งเสริมอาชีพเสริมและเงินหมุนเวียน

การปลูกผักเหลียง

การศึกษาทางสัณฐานวิทยาและกายวิภาคของผักเหมียง

ปลูกผักเหลียงเป็นพืชแซมสะตอ

เส้นทางศึกษาธรรมชาติเส้นทางที่ 1 ชมธรรมชาติรอบๆป่าวัดสวนวางระยะทาง 500 - 600 เมตร

การปลูก”ผักเหมียง(เหลียง)”ร่วมกับต้นยางพารา

ปลูกผักเหมียงแซมยาง เสริมรายได้

ต้นไม้พื้นบ้านทางใต้ ที่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ และน่าจะปลูกได้ทุกที่

การปลูกผักเหลียงในสวนยาง

ปลูกผักเหลียงในภาคเหนือ

Cara mencegah penuaan dini atasi pakai daun MELINJO !!

ผักปลอดสารพิษ

ผักพื้นบ้าน

iGetWeb.com
AdsOne.com

การปลูกผักเหลียงในสวนยาง


เทคโนโลยีการเกษตร

วสันต์ สุขสุวรรณ โทร. (06) 268-2754

ผักเหลียง แซมในสวนยางพารา ที่เมืองระนอง

ระนอง เกษตรกรปลูกยางพารากว่า 154,000 ไร่ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและนำรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของจังหวัดไม่ต่ำกว่าปีละ 1,090 ล้านบาท โดยเฉพาะปี 2548 ราคายางพาราพุ่งพรวดไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-70 บาท จึงทำให้ชาวสวนยางยิ้มแก้มปริกันถ้วนหน้า

การปลูกยางพารา ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 3 เมตร ระหว่างแถว 7 เมตร ทำให้มีพื้นที่ว่างระหว่างแถวมากพอสมควร เกษตรกรในจังหวัดระนองหลายคนจึงใช้พื้นที่ว่างดังกล่าวปลูกผักเหลียงแซมในสวนยางพารา สร้างรายได้เพิ่มได้ดี หากเกษตรกรเก็บยอดผักเหลียงได้วันละ 100 กำ (มัด) ขายกำละ 4 บาท จะมีรายได้วันละ 400 บาท นอกเหนือจากรายได้จากการขายยาง


ผักเหลียง

ผักเหลียง เป็นไม้ป่าชนิดหนึ่ง เป็นพืชที่ไม่ชอบแสงแดดและความร้อนสูงจากอากาศ มีอายุนานหลายปี เมื่อนำไปปลูกไม่ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนปลูกใหม่ทุกปี เจริญเติบโตดีในสภาพร่มเงา การดูแลรักษาง่าย ไม่มีโรคและแมลงรบกวน จึงทำให้แน่ใจว่าปลอดจากสารเคมี พบทั่วไปตามเนินเขา และที่ราบ ตั้งแต่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 5 เมตร ถึง 200 เมตร ที่มีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 2,000 มิลลิเมตร ต่อปี ช่วงระยะเวลาฝนตกไม่ต่ำกว่า 150 วัน ต่อปี ฝนแล้งติดกันไม่เกิน 45 วัน ซึ่งสถานที่ดังกล่าวนี้จะอยู่ในจังหวัดระนอง พังงา ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ และตรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดระนองและพังงา ซึ่งมีพื้นที่ป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีปริมาณน้ำฝนสูง ความชื้นสูง จึงเหมาะสมที่ต้นผักเหลียงจะงอกงามเจริญเติบโตได้ดีและขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ


ถิ่นกำเนิดผักเหลียง

ผักเหลียง พบในประเทศไทย มาเลเซีย และพม่า พบมากที่จังหวัดระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี กระบี่ และตรัง ตามปกติผักเหลียงจะขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ตามป่า เขา หรือที่มีความชุ่มชื้น เมื่อป่าไม้ต่างๆ หมดไป ผักเหลียงเริ่มลดลง จึงต้องนำมาปลูกเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นทุกวัน


ปลูกผักเหลียงแซมในสวนยางพารา

ผักเหลียง ปลูกแซมในสวนยางพารา เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี และมีผักปลอดภัยจากสารพิษไว้บริโภค เป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร อีกทั้งยังทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคผักปลอดภัยจากสารพิษ

คุณประจบ พวงพระแสง บ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 5 ตำบลบางแก้ว อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง โทร. (01) 080-8246 มีสวนยางพาราหลายแห่ง ทุกแห่งจะปลูกแซมด้วยผักเหลียง ปลูกผักเหลียง ประมาณหมื่นต้น ปลูกมา 5-6 ปีแล้ว ทำให้มีรายได้เพิ่มและที่สำคัญเป็นการใช้พื้นที่ดินให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉลี่ยจะเก็บยอดอ่อนผักเหลียง สัปดาห์ละ 3 วัน เก็บได้วันละ 100 กำ ขายกำละ 4 บาท เท่ากับมีรายได้สัปดาห์ละ 1,200 บาท นอกเหนือจากการขายยางพารา จึงฝากถึงเพื่อนเกษตรกรชาวสวนยางปลูกผักเหลียงไว้เพื่อกิน เหลือกินนำไปขาย เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดีŽ

ผักเหลียง ไม่มีปัญหาเรื่องศัตรูพืชที่จะมารบกวน ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เป็นพืชที่ทดแทนพืชผักที่มีอยู่ในท้องตลาดได้ ทำให้ประชาชนผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคผักปลอดภัยจากสารพิษมากขึ้น การปลูกผักเหลียง นอกจากจะได้ประโยชน์เป็นพืชผักแล้วยังเป็นพืชคลุมดินที่คงทนถาวรกว่าพืชอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เชิงเขา หรือลาดชัน รากของต้นผักเหลียงจะช่วยยึดหน้าดินไว้มิให้พังทลาย และถูกชะล้างไปโดยง่าย และยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับดิน เนื่องจากผักเหลียงเป็นไม้ทรงพุ่มผลัดใบตลอดปี จึงทำให้ดินไม่แห้ง แข็ง


การปลูกผักเหลียง :เกษตรแบบยั่งยืน

ผักเหลียง เมื่อปลูกผักเหลียงแล้วจะสามารถเก็บหรือเด็ดยอดใบอ่อนเพื่อบริโภคหรือจำหน่ายได้นาน กรณีปลูกร่วมยาง เมื่อถึงเวลาโค่นยางพาราเพื่อปลูกรอบใหม่ ก็สามารถทำได้ง่าย โดยการตัดต้นผักเหลียงให้ชิดติดกับดินแล้วจึงโค่นต้นยางพารา เมื่อได้น้ำได้ฝน ผักเหลียงจะแตกต้นอ่อนขึ้นมาใหม่จากตอและส่วนของลำต้นใต้ดินได้อีก ดังนั้น การปลูกผักเหลียงแซมในสวนยางพาราจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร


วิธีการปลูกผักเหลียง

คุณสุเมธ พฤกษ์วรุณ นักวิชาการเกษตร ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตจังหวัดระนอง บอกว่า ผักเหลียงขยายพันธุ์ได้หลายวิธีคือ การเพาะเมล็ด ต้นกล้าจากการเพาะเมล็ดจะมีทรงพุ่มสวยและทนแล้งได้ดี ข้อเสียคือ เมล็ดผักเหลียงไม่สามารถเก็บได้ทุกปี และเมื่อเพาะกล้าแล้วการเจริญเติบโตช้า

ขยายพันธุ์โดยใช้ไหล หรือต้นที่ออกจากรากแขนง โดยการขุดในช่วงหน้าฝน ซึ่งเป็นไหลที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป จะสังเกตเห็นเปลือกของลำต้นสีน้ำตาลนำไปปลูกในแปลงได้เลย หรือจะชำถุงไว้ก่อนให้แข็งแรงสมบูรณ์ ก่อนนำไปปลูก

ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง กิ่งที่เหมาะสม ควรมีเปลือกสีน้ำตาลอมเขียวเล็กน้อยจนถึงสีน้ำตาล กิ่งตอนที่ได้นำมาชำในถุง จนรากงอกเต็มถุงจึงย้ายปลูกลงแปลงได้

วิธีการปลูกผักเหลียงแซมในสวนยางพารา คุณสุเมธ พฤกษ์วรุณ บอกว่า ปลูกในแปลงยางพาราที่ใช้ระยะปลูก 3x7 เมตร โดยปลูกผักเหลียงระยะห่างต้น 3 เมตร ระหว่างแถว 2 เมตร หรือปลูกในแปลงยางพาราที่ใช้ระยะปลูก 2.5x8 เมตร โดยปลูกผักเหลียงระยะระหว่างต้น 2.5 เมตร และระยะระหว่างแถว 2.5 เมตร ขนาดหลุมปลูกกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร ขุดหลุมแยกดินบนไว้ข้างหนึ่ง ดินล่างไว้ข้างหนึ่ง ตากหลุมไว้ 2 สัปดาห์ จากนั้นนำปุ๋ยคอกและดินชั้นบนผสมกับปุ๋ยรองก้นหลุมร็อกฟอสเฟต 100 กรัม ต่อหลุม แล้วจึงปลูกผักเหลียง โดยกรีดบริเวณก้นถุงออกไป นำต้นพันธุ์วางลงในหลุมปลูกกรีดข้างถุง เอาถุงออก กลบดินบริเวณโคนให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ใช้ไม้หลักปักเชือกผูกให้เรียบร้อย ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกคือ ต้นฤดูฝน

ส่วนการดูแลรักษา คุณสุเมธ พฤกษ์วรุณ แนะนำให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี และปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 200 กรัม ต่อต้น ต่อปี การกำจัดวัชพืชโดยการตัดวัชพืชที่อยู่บริเวณรอบโคน นำเศษวัชพืชมาคลุมโคนในช่วงฤดูแล้ง การตัดแต่งกิ่ง ควรตัดแต่งกิ่งให้เหลือความสูงประมาณ 1 เมตร เพื่อความสะดวกในการเก็บผลผลิต เป็นการเร่งการแตกกิ่งและขยายทรงพุ่มเพื่อเพิ่มผลผลิต ควรกำจัดไหลของผักเหลียงให้ห่างจากต้นยางประมาณ 2 เมตร

การเก็บเกี่ยว ผักเหลียงที่ปลูกจากการชำถุง จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 2 ปี ขึ้นไป ยอดที่เก็บเกี่ยวแล้วจะเก็บได้ใหม่ เมื่อครบ 25-30 วัน การเก็บเกี่ยวควรเก็บให้ชิดข้อ ไม่ควรเก็บกลางข้อ เพราะจะทำให้การแตกยอดอ่อนครั้งต่อไปช้า การเก็บรักษาควรเก็บไว้ในที่ร่ม พรมน้ำแต่พอชุ่ม สามารถเก็บสดอยู่ได้นาน 5-6 วัน โดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น การขายเป็นกำ (มัด) มัดละ 70-10 กรัม ราคากำละ 3-5 บาท


ประโยชน์ของผักเหลียง

ผักเหลียง เป็นผักที่มีรสชาติดี หวาน มันเล็กน้อย ชวนรับประทาน ใครได้ชิมแล้วจะติดใจ มีคุณค่าทางอาหารสูง ปลอดภัยจากสารพิษ ส่วนที่ใช้ประกอบอาหารคือ ยอด ใบอ่อนผักเหลียง สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ต้มกะทิ แกงเผ็ด แกงไตปลา แกงส้ม แกงเลียง ทำห่อหมก ผัดพริกกับหมู ปลา กุ้ง ผัดเผ็ด ผัดไข่ ผัดผักรวม ผัดน้ำมันหอย แกงจืดหมูสับ ชุบแป้งทอด

คุณค่าทางอาหารของผักเหลียง จากการวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารของผักเหลียงโดยหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และภาควิชาอุตสาหกรรมอาหาร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า ผักเหลียงมีคุณค่าทางอาหารสูงเมื่อเปรียบเทียบกับผักทั่วไป


เกษตรจังหวัดระนองแนะนำให้เกษตรกรปลูกผักเหลียง

เป้าหมายสุดท้ายของการส่งเสริมการเกษตร ก็คือ การทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รายจ่ายลดลง เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคงในงานอาชีพ การแนะนำหรือการเสนอทางเลือกให้แก่เกษตรกร จึงเป็นหัวใจที่สำคัญ โดยอยู่บนพื้นฐานที่มาจากความต้องการของเกษตรกร ตลาดและความเหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ด้วยเหตุนี้จังหวัดระนองจึงได้มีการส่งเสริมควบคู่ไปกับการฟื้นฟูอาชีพการปลูกผักเหลียงเป็นพืชแซมยาง เพื่อที่จะให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไม่ว่างงาน มีรายได้ที่เป็นรายวัน รายเดือน และรายปี ทั้งนี้เพราะผักเหลียงเป็นผักที่ปลูกง่าย ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า จนสามารถพูดได้ว่าผักเหลียงเป็นผักที่ปลูกครั้งเดียวเก็บได้หลายปี โรค แมลงศัตรูก็มีน้อยมาก ฝนตกฟ้าร้องแสงแดดแผดร้อนมากน้อยสักเพียงใดก็ไม่มีปัญหา การพัฒนาผักเหลียงให้เป็นผักเศรษฐกิจของจังหวัดเคียงคู่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวระนองและพี่น้องชาวใต้ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ

บทสรุป

ผักเหลียง เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพร่มเงา ดูแลง่าย เป็นพืชอายุยืน ให้ผลผลิตได้นานหลายปี มีระบบรากลึก ไม่มีผลกระทบต่อพืชหลัก ไม่มีปัญหาโรคและแมลง ส่วนที่ใช้ประกอบอาหารคือ ยอดและใบอ่อน ผักเหลียงมีรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางอาหารสูง และเป็นอาหารจานเด็ดระดับภัตตาคาร มีผู้นิยมบริโภคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะแต่ผู้บริโภคในภาคใต้เท่านั้น จึงเป็นพืชผักพื้นเมืองที่มีศักยภาพสูงเหมาะสมสำหรับนำมาปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพารา ปลูกเป็นพืชผักพื้นเมืองที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้ เป็นการลดรายจ่าย สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี




view

ติดต่อเรา / Contact us

E-mail : Bailang@windows.com

Or http://bailang.igetweb.com

view