http://bailang.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  บทความ  เว็บบอร์ด  ต้นเหลียง
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 27/06/2011
ปรับปรุง 12/03/2021
สถิติผู้เข้าชม1,312,009
Page Views1,764,250
Menu
หน้าแรก
บทความ
เว็บบอร์ด
ติดต่อเรา
ข้อมูลต้นเหลียง
ผักปลอดสารพิษ
ผักพื้นบ้าน
iGetWeb.com
เว็บสำเร็จรูป ทำเว็บ สร้างเว็บ




 

การตรวจผลึกแคลเซียมออกซาเลทในผักพื้นเมืองภาคกลางและภาคตะวันตก

การตรวจผลึกแคลเซียมออกซาเลทในผักพื้นเมืองภาคกลางและภาคตะวันตก

ผักพื้นเมืองภาคกลางและภาคตะวันตกที่ได้ตรวจหาผลึกแคลเซียมออกซาเลท

 

ผักพื้นเมืองภาคกลางและภาคตะวันตกที่ได้ตรวจหาผลึกแคลเซียมออกซาเลททั้งหมด 51 ชนิด แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีผลึกมาก ปานกลาง และน้อย

กลุ่มที่มีผลึกมาก ได้แก่ กระสัง กระทือ ขิง ขมิ้นขาว แขยง คัดเค้า บอน ผักปราบ ปอกระเจา ผักเป็ดแดง แพงพวย พลูคาว พริกขี้หนู แสงจันทร์ และ อทก

กลุ่มที่มีผลึกปานกลาง ได้แก่ กลอย โกสน ขี้เหล็กป่า ผักหนาม ผักเป็ดขาว มะม่วงหิมพานต์ มันเทศ มะตูม มะรุม เล็บครุฑใบใหญ่ เหลียง สลิด สะเดา และ หูเสือ

กลุ่มที่มีผลึกน้อย ได้แก่ กระเม็ง กระดอม กระถิน ขี้เหล็กบ้าน ชะอม ดาวกระจาย ตำลึง ถั่วพู ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ผักกาดน้ำ ผักคราดหัวแหวน ผักบุ้งน้ำ กระโดนน้ำ ผักกูดขาว ผักคึก (กระท้อน) ผักแป้น มันสำปะหลัง มหากาฬ มะขาม มันต่อเผือก ฟักทอง

ผักที่อยู่ในกลุ่มที่มีปริมาณผลึกแคลเซียมออกซาเลทมากแสดงว่ามีสารออกซาเลทสูง จึงไม่ควรรับประทานเป็นจำนวนมากหรือบ่อยครั้ง และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีแคลเซียมสูงในมื้อนั้นๆ ด้วย เช่น นม หรือผลิตภัณฑ์จากนม ถึงแม้ว่าผักที่อยู่ในกลุ่มมีผลึกมาก เช่น ผักโขม และชะพลู (กัญจนา และภัทรียา, 2540) มักจะมีปริมาณแคลเซียมเป็นจำนวนมาก (341 มิลลิกรัม และ 298 มิลลิกรัมต่อผักสด 100 กรัม) (นิรนาม, 2541) แต่ก็อยู่ในรูปของแคลเซียมออกซาเลท ซึ่งร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้ (Will et al., 1984) หากจะรับประทานผักที่มีปริมาณผลึกมากและปานกลาง ควรรับประทานร่วมกับอาหารที่ให้โปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ถึงเมล็ดแห้งต่างๆ หรืออาหารที่ให้ฟอสฟอรัสสูง เช่น เมล็ดแตงโม หัวมันเทศ (นิรนาม, 2544) ในขณะเดียวกันก็ควรมีกรดซิตริคหรือกรดมะนาวเข้าร่วมด้วย เพราะเกลือฟอสเฟตและเกลือซิเดรทจะเป็นตัวขัดขวางการรวมกลุ่มของผลึก หากผลึกไม่สะสมจนเป็นก้อนใหญ่ ร่างกายสามารถขับออกได้ทางปัสสาวะ และควร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริคสูง เช่น สัตว์ปีก และผักบางชนิด เช่น แตงกวา หน่อไม้ ขี้เหล็ก ฯลฯ เพราะกรดยูริคจะเป็นตัวเร่งให้ผลึกรวมตัวกันได้เร็วขึ้น โอกาสการเป็นโรคนิ่วก็จะมากขึ้น (ดำรงพันธุ์ และคณะ, 2533) ได้มีการทดลองต้มผักโขมในน้ำเดือด 5 นาที ปรากฏว่าไม่พบการเปลี่ยนแปลงของผลึก (กัญจนา และภัทรียา, 2543) แต่มีรายงานว่ามีวิธีการลดปริมาณออกซาเลทในผักกะหล่ำชนิดหนึ่ง (skunk cabbage) ได้ โดยการนำไปต้มกับผงฟู (baking soda) หลายๆ ครั้ง (Garrett, 1997) วิธีนี้คงใช้กับผักบางชนิดไม่ได้ เพราะผักจะถูกต้มจนเปื่อยไม่น่ารับประทาน แต่การรับประทานผักพื้นเมืองส่วนใหญ่จะรับประทานกับน้ำพริกหรือแกงต่างๆ ซึ่งมีกะปิและกุ้งแห้งเป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีโปรตีนที่สามารถทำให้ผลึกแตกตัวเล็กลง มีรายงานภูมิปัญญาชาวบ้านในการลดความคันของบอน โดยการนำมาต้มเคี่ยวจนเปื่อยใส่น้ำมะขามเปียกหรือใบส้มป่อยลงไปด้วย (นิรนาม, 2541) จะช่วยลดความคันลงได้ระดับหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าบอนมีผลึกชนิดเข็ม ซึ่งปกติจะรวมตัวกันเป็นมัด (bundle of raphide) เมื่อผักเปื่อยผลึกอาจถูกทำให้แตกหักจึงลดความระคายเคืองลงได้เมื่อถูกสัมผัส แต่ความเสี่ยงในการเป็นนิ่วยังเป็นไปได้สูง หากรับประทานบ่อย ๆ หรือร่างกายอยู่ในสภาวะที่สนับสนุนการรวมกลุ่มของผลึก ดังนั้นการลดความเสี่ยงในการเป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ จึงต้องระมัดระวังในการบริโภคและบริโภคตามคำแนะนำ ถึงแม้ว่าการเกิดโรคจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างแต่ถ้าระมัดระวังในการบริโภคผักที่มีออกซาเลทสูงได้ก็จะลดความเสี่ยงลงได้ระดับหนึ่ง

จากการศึกษาแคลเซียมออกซาเลทในผักโขมและใบหม่อนพันธุ์ต่างๆ พบว่า มีความแตกต่างในด้านปริมาณของผลึกในแต่ละสายพันธุ์ แสดงว่าเป็นลักษณะประจำพันธุ์ (กัญจนา และภัทรียา, 2543 และ 2545) แต่ควรศึกษาต่อไปอีกว่าถ้าเป็นผักชนิดเดียวกัน แต่ปลูกคนละภูมิประเทศหรือคนละภาคจะมีความแตกต่างกันหรือไม่

ข้อมูลเพิ่มเติม https://docs.google.com/viewer?a=v&q=cache:kfkgyvMhZ8YJ:m.doa.go.th/biotech/pdf-ktk/ktk(17).pdf+%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87&hl=th&gl=th&pid=bl&srcid=ADGEESjqrxzKH87RsmHs5uKgyZJLfbaST3VCgZsgFtza7ry2VqAx98ViWgPpjELPy8G43JzF4e2fjuNmpB8pzpGQ7SQhC4_KSS5ZZi2s56v_Ptm0F5tSQIOxfMhOGxGijUptlkOfMUfe&sig=AHIEtbRHxmw5DKU4Xy-MKCj_TEMO5uXSpQ

Tags :

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

*

*

 
ติดต่อเรา / Contact us E-mail : Bailang@windows.com Or http://bailang.igetweb.com
view